ความเป็นดาร์บี้ แมตช์, คู่อริ (Rivalry) ในเกมฟุตบอล ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรีที่ต่างฝ่ายไม่มีใครยอมใคร
เลสเตอร์ ซิตี้ กับ น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ก็เป็นอีกหนึ่งดาร์บี้แมตช์ของสองทีมที่ตั้งอยู่ในแถบอีสต์ มิดแลนด์ ของเกาะอังกฤษ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อที่ว่า อีสต์ มิดแลนด์ ดาร์บี้ (East Midland derby)
อย่างไรก็ตาม ถึงต่อให้ความเป็นคู่แข่งที่เดือดแค้นมากแค่ไหน ในอดีตเคยปรปักษ์กันเพียงใด แต่ก็ไม่ควรมองข้ามเส้นคำว่า “น้ำใจนักกีฬา” ไปได้ ย้อนไปเมื่อเกือบๆ 13 ปีก่อน ในศึกคาลิ่ง คัพ รอบ 2 เมื่อวันที่ 18 กันยายน ปี 2007 ที่สนาม ซิตี้ กราวด์ หลังจากผู้ตัดสินเป่านกหวีดเริ่มการแข่งขัน น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ มาได้ประตูที่เรียกว่าเป็น ลูกที่ได้มาแบบฟรีๆ (Free Goal) เมื่อผู้เล่น เลสเตอร์ ทั้ง 11 คนปล่อยให้ พอล สมิธ ผู้รักษาประตูของ ฟอเรสต์ พาบอลเข้าไปยิงประตูโดยไม่มีใครเข้าไปแย่ง ซึ่งก็ทำให้ “ทีมเจ้าป่า” ทำสกอร์ขึ้นนำ 1-0
ถึงตรงนี้ หลายคนสงสัยกันใช่ไหมว่า ทำไมผู้เล่นจิ้งจอกสีน้ำเงิน ถึงปล่อยให้คู่แข่งทำแบบนั้น ทั้งที่ตัวเองตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบตั้งแต่เริ่มเกม
เรื่องมีอยู่ว่า ที่จริงเกมคู่นี้ทำการแข่งขันกันไปแล้วตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม และก็ควรได้ผู้ชนะตั้งแต่วันนั้น ทว่าในแมตช์ดังกล่าว ขณะที่ ฟอเรสต์ เป็นฝ่ายขึ้นนำอยู่ 1-0 เมื่อจบครึ่งเวลาแรก ไคลฟ์ คล้าร์ก ผู้เล่นของ เลสเตอร์ เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันในห้องแต่งตัว ส่งผลให้เกมต้องถูกยกเลิกในทันที และตัว คล้าร์ก เองก็ถูกส่งเข้ารักษาที่ห้องฉุกเฉิน ที่ศูนย์การแพทย์ ในเมืองน็อตติงแฮม ซึ่งภายหลังเจ้าตัวก็มีอาการดีขึ้น
เมื่อเกมถูกยกเลิกก็ต้องหาวันมาแข่งใหม่ สกอร์การแข่งขันก็ต้องกลับมาเริ่มใหม่เช่นกัน ซึ่งแน่นอนล่ะ มันก็ไม่เป็นธรรมต่อ ฟอเรสต์ เลย ในใจคงคิดว่าจะให้มาเริ่มต้นใหม่ได้ยังไง ในเมื่ออุตส่าห์ทำประตูขึ้นนำไปแล้วแท้ๆ
อย่างไรก็ดี หลังจากที่ผู้เล่น เลสเตอร์ รวมถึงสตาฟฟ์ คุยกันก่อนเกมที่จะแข่งใหม่เริ่มขึ้น พวกเขาตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะปล่อยให้ ฟอเรสต์ ทำประตูขึ้นนำไปก่อน เพื่อให้สกอร์เป็นเท่าเดิมเหมือนตอนช่วงระหว่างเกมที่ถูกยกเลิกไป ซึ่งสุดท้ายแมตช์นี้ จบลงด้วยชัยชนะของ เลสเตอร์ 3-2 ตีตั๋วผ่านเข้ารอบต่อไปได้สำเร็จ
เสียงชื่นชมต่อทีมสุนัขจิ้งจอกมีอย่างล้นหลาม ต่างเชิดชูว่าพวกเขามีสุดยอดสปิริต ลอร์ด มอว์ฮินนี่ย์ ประธานของ ฟุตบอล ลีก ก็กล่าวชม เลสเตอร์ ที่แสดงความมีน้ำใจนักกีฬาในครั้งนี้เช่นกัน
ส่วน จอห์น นาเกิ้ล ประธานฝ่ายการสื่อสารของ ฟุตบอล ลีก เสริมว่า “การกระทำของ เลสเตอร์ เป็นการแสดงให้เห็นถึงฟุตบอลได้ดีที่สุด ลอร์ด มอว์ฮินนี่ย์ ยังติดต่อไปหา น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ หลังจบเกมนัดแรกเพื่อชื่นชมพวกเขาด้วย ที่แสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจนักกีฬาที่ดีจากการที่ยอมยกเลิกเกมการแข่งขัน ทัศนคติด้านกีฬาที่ทั้ง น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ และ เลสเตอร์ ซิตี้ แสดงให้เห็นในทั้ง 2 เกมนี้มันคือการสะท้อนให้เห็นถึงเกมฟุตบอลได้เป็นอย่างดี”
ฝั่งทีมที่ได้รับการยกย่องก็ออกมาพูดเช่นกัน มิลาน มันดาริช ประธานของเดอะ ฟ็อกซ์ ในตอนนั้น เผยหลังจบเกมว่าตนภูมิใจมากทีมพวกผู้เล่นตัดสินใจแบบนี้ ซึ่งมันแสดงให้เห็นถึงสปิริตน้ำใจอันดีเยี่ยม “ผมภูมิใจในตัวผู้เล่นทุกคน และเราก็มีความสุขที่ได้ทำแบบนี้ ฟุตบอลจะไม่ทำความเจ็บช้ำให้ใคร”
“ความคิดนี้เกิดจากคนทั้งสโมสร เราทั้งหมดก็อยากจะชนะ แต่เรื่องศีลธรรมและความยุติธรรม มันก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน”
“มันเป็นสถานการณ์ที่ยากเหมือนกันนะ แต่ถูกต้องแล้วล่ะที่ทำลงไป”
ด้าน แกรี่ เม็กสัน กุนซือเลสเตอร์ ก็กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าทางทีมได้คุยกับคู่แข่งก่อนแล้ว “ผมได้พูดคุยกับ ผู้จัดการทีมฟอเรสต์ โคลิน คาลเดอร์วู้ด ก่อนแข่ง 20 นาทีแล้ว เพื่ออธิบายเรื่องที่อยู่ในใจ แต่ก็ไม่มีเสียงอะไรตอบกลับมาจนกระทั่งก่อนเกมจะเริ่มขึ้น”
ส่วนกุนซือฟอเรสต์ เผยเพิ่มเติมว่า “เลสเตอร์ รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่สมควรทำ และผมต้องยอมรับว่าตอนแรกมันทำให้เราแปลกใจนิดหน่อย แต่มันก็เป็นการกระทำที่น่านับถือ และผมอยากคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดีต่อวงการฟุตบอลโดยรวม ผมคิดว่าแฟนบอลเข้าใจดีว่ามันเป็นการทำด้วยสปิริตที่ดี” เวลาผ่านไปเป็นสิบปีเรื่องราวสปิริตก็ยังฝังอยู่ในความเป็น เดอะ ฟ็อกซ์
เหตุการณ์ที่จะกล่าวต่อไปนี้ เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นาน จากยุคเจ้าของชาวเซอร์เบีย มาจนถึงยุคเจ้าของคนไทย เรื่องความมีน้ำใจในสโมสร เลสเตอร์ ก็ยังคงอยู่ไม่มีเปลี่ยน
วันที่ 14 ธันวาคม ปี 2019 เลสเตอร์ เปิดบ้านรับมือ นอริช ทีมบ๊วยของตาราง เบรนแดน ร็อดเจอร์ส กุนซือของทีม ให้โอกาส เคเลชี่ อิเฮียนาโช่ ลงเป็นตัวจริงต่อเนื่องหลังโชว์ฟอร์ม ยิง 2 แอสซิสต์ 2 จาก 2 เกมหลังสุดที่ลงสนาม
ในนาทีที่ 26 ที่ คิง เพาเวอร์ สเตเดี้ยม เจ้าถิ่นพลาดท่าตกเป็นฝ่ายตามหลัง 0-1 ถัดจากนั้นก็หมายมั่นจะทวงประตูคืน จนเกิดจังหวะดราม่าขึ้นเมื่อ เอมิลิเอโน่ บวนเดีย มิดฟิลด์ฝั่งทีมเยือนได้รับบาดเจ็บ และขณะนั้นบอลเป็นฝ่ายการครอบครองของ นอริช แต่พวกเขาเลือกเตะบอลทิ้งออกนอกสนามเพื่อให้ทีมแพทย์เข้ามาดูอาการ และตามมารยาทแล้วนั้น ผู้เล่น เลสเตอร์ ที่จะนำบอลมาทุ่มก็ควรส่งคืนให้แก่ นอริช ไปเล่นต่อ ทว่า อิเฮียนาโช่ กองหน้าเลสเตอร์ กลับทำตรงกันข้าม เขาเลือกเลี้ยงบอลตะบึงเข้าไปในกรอบเขตโทษเพื่อจะยิงประตู แต่สุดท้ายผู้เล่นทีมเยือนต้องกรูเข้าไปอัด หมายเอาเรื่อง แข้งเลสเตอร์รายนี้ โทษฐานไม่มีน้ำใจนักกีฬา
เข้าใจล่ะว่า เจตนาของ อิเฮียนาโช่ คืออยากทวงประตูคืนให้กับทีม ทั้งที่จะควรจะส่งบอลคืนให้แก่คู่แข่ง แต่เมื่อเขาตัดสินใจแบบนั้นไปแล้ว ก็ต้องยอมรับกับสิ่งที่กำลังจะตามมา
ไม่ถึง 10 นาทีหลังจากช็อตปัญหานั้น ร็อดเจอร์ส ตัดสินใจเปลี่ยนตัว อิเฮียนาโช่ ออกจากเกมเนื่องจากรับไม่ได้กับสิ่งที่ลูกทีมคนนี้ทำลงไป
หลังจบเกม บี-ร็อด อธิบายถึงเรื่องการเปลี่ยนตัวนี้ ว่าเป็นสิ่งที่เขาก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน “เขาอ่านสถานการณ์พลาดไปจริงๆ บอลมันควรจะถูกส่งคืนไป ยังดีที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นหลังจากนั้น”
“ส่วนใหญ่แล้วบอลมันจะถูกส่งคืนไป แบบนี้มันเลยทำให้เกิดเหตุการณ์ต่อเนื่องที่อาจจะเป็นใบแดงได้ ซึ่งมันเป็นอะไรที่น่าขัดใจเหมือนกัน”
“พวกเขาไม่ค่อยประทับใจที่ อิเฮียนาโช่ พยายามพาบอลเข้าไปทำประตู เจ้าเคลส์(หมายถึง อิเฮียนาโช่) บอกตามตรงเลยว่าผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเขาคิดอะไรอยู่”
”จริง ๆ เขาเป็นเด็กที่ซื่อสัตย์ แล้วก็โดนเตะอย่างชัดเจน แต่ก็ถือว่าดีแล้วที่ทุกอย่างมันแก้ไขได้และไม่มีอะไรบานปลายเกิดขึ้น”
ส่วนความเห็นของแฟนๆ เดอะ ฟ็อกซ์ ก็เป็นไปแนวทางเดียวกับ ร็อดเจอร์ส หลายคนรับไม่ได้กับการกระทำของ อิเฮียนาโช่ และเห็นด้วยที่ ผู้จัดการทีม เปลี่ยนตัวเขาออกไป เพราะสำคัญคือผู้เล่นต้องมี “น้ำใจนักกีฬา”
ผลของพฤติกรรมเพียงช่วงเวลาไม่กี่วินาที อิเฮียนาโช่ โดนดร็อป ไม่ได้ลงสนามสักนาทีเป็นเวลา 2 นัด ซึ่งหลังจากเขาใช้เวลาได้ทบทวนตัวเอง ร็อดเจอร์ส ก็ให้โอกาสกลับมาลงสนาม และสามารถทำประตูได้ในเกมบุกชนะ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด 2-1
น้ำใจนักกีฬา อาจไม่ได้วัดผลออกมาเป็นรูปธรรม ไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้เอาชนะคู่แข่ง แต่มันคือสิ่งที่นักกีฬาหรือไม่ว่าใครก็ตามต้องมีอยู่ในจิตวิญญาณ
การชนะโดยปราศจากน้ำใจนักกีฬา อาจได้มาแค่ชื่อเสียงระยะสั้นๆ แต่การพ่ายแพ้โดยมีสปิริต จะติดตัวเราไปอีกนานแสนนาน ผู้แพ้อาจไม่มีสิทธิ์วอนขออะไร แต่น้ำใจนักกีฬา จะได้เสียงยอมรับจากรอบกาย ว่าคุณคือ นักกีฬาตัวจริง
Last Updated on