ย้อนรอยเส้นขนาน “ลิเวอร์พูล-แมนยูฯ” กับความสำเร็จในรอบ 30 ปี

สิ้นสุดฤดูกาล 1989-90 ซีซั่นสุดท้ายที่ ลิเวอร์พูล ครองแชมป์ฟุตบอลดิวิชั่น 1 หรือลีกสูงสุด อังกฤษ หลังจากนั้นเหล่าสาวกเดอะ ค็อป ต้องทนเห็นคู่ปรับตลอดกาลอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก้าวขึ้นมาเป็นทีมเบอร์ 1 ของเกาะอังกฤษ

สัญญาณขาลงของ ลิเวอร์พูล เร่ิมเผยออกมาในฤดูกาล 1990-91 ลิเวอร์พูล ถูก อาร์เซนอล ปาดหน้าคว้าแชมป์ในเกมนัดสุดท้ายที่ทั้งคู่พบกัน ส่วน แมนยูฯ จบอันดับ 6 ต่อด้วยปี 1991-92 ฤดูกาลสุดท้ายที่ลีกสูงสุดอังกฤษยังใช้ชื่อ ดิวิชั่น 1 แมนยูฯ เร่ิมยกระดับขึ้นมาเป็นทีมหัวแถว ได้รองแชมป์ลีก ส่วน หงส์แดง หลุดไปอยู่อันดับ 6

วลีที่ แฟนบอลลิเวอร์พูล เคยล้อแฟนบอลแมนยูฯว่า พวกเขาคือแชมป์สูงสุดอังกฤษ 18 สมัย เมื่อครั้ง แมนยูฯ ได้แค่ 7 สมัย คงไม่มีแฟนเดอะ ค็อป คนไหนคิดว่าในช่วงเวลาไม่ถึง 30 ปีหลังจากนั้น ปิศาจแดง เดินหน้ากวาดแชมป์พรีเมียร์ลีกได้ถึง 13 สมัย ยึดตำแหน่งสโมสรฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของลูกหนังเมืองผู้ดี

ฤดูกาล 1992-93 ปีแรกที่ลีกสูงสุดใช้ชื่อพรีเมียร์ลีก ลูกทีมของ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เข้าป้ายในฐานะแชมป์ ส่วน ลิเวอร์พูล จบอันดับ 6 ซึ่งพรีเมียร์ลีก 9 ฤดูกาลแรก ผลงานของ แมนยูฯ เหนือกว่า ลิเวอร์พูล ชัดเจน พลพรรคปิศาจแดง ไม่ได้แชมป์ก็รองแชมป์ ขณะที่ ลิเวอร์พูล ยังไม่เข้าใกล้แม้กระทั่งคำว่าลุ้นแชมป์ แถมยังเคยหลุดไปถึงอันดับ 8 ในปี 1993-94 รวมทั้งในฤดูกาล 1998-99 แมนยูฯ สร้างประวัติศาสตร์เป็นทีมแรกของอังกฤษที่ได้ทริปเปิลแชมป์ ทั้งแชมป์พรีเมียร์ลีก, เอฟเอ คัพ และยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ส่วนคู่ปรับตลอดกาล ต้องก้มหน้าเห็นแมนยูฯ กลายเป็นทีมเบอร์ 1 ของยุโรป ขณะที่ ลิเวอร์พูล ทำได้แค่อันดับ 7

ลูกหนังอังกฤษเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 หรือยุคมิลเลเนียม แมนยูฯ สานต่อความสำเร็จจากปีทริปเปิลแชมป์ ได้พรีเมียร์ลีกอีก 2 สมัย กระทั่งฤดูกาล 2001-02 เป็นซีซั่นแรกที่ ลิเวอร์พูล ผลงานดีกว่าปิศาจแดง เมื่อพวกเขาไ้ด้รองแชมป์พรีเมียร์ลีก และเป็นสิงห์บอลถ้วย ได้แชมป์ลีกคัพ, เอฟเอ คัพ และยูฟ่า คัพ ส่วนแมนยูฯ จบอันดับ 3 ก่อนจะมีแชมป์เมเจอร์ให้แฟนบอลได้ชื่นใจ คือการได้แชมป์ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2004-2005 แม้ในลีกจะจบอันดับ 5 ก็ตาม

จากนั้น ผลงานและอันดับบนตารางคะแนนของ แมนยูฯ ก็อยู่เหนือ ลิเวอร์พูล เรื่อยมา จนมาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน บรมกุนซือประกาศวางมือ หลังพาทีมคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกสมัยที่ 13 ฤดูกาล 2012-13 หลังจากนั้นเข้าสู่ยุคตกต่ำของแมนยูฯ ฤดูกาล 2013-14 ปีแรกที่ไร้เงา เซอร์อเล็กซ์ อยู่ข้างสนาม พวกเขาจบอันดับ 7 ขณะที่ ลิเวอร์พูล มาพลาดในช่วงโค้งสุดท้ายไม่กี่นัดก่อนจบฤดูกาล พลาดแชมป์อย่างน่าเจ็บใจ

ปี 2015 การมาของชายที่ชื่อ เยอร์เกน คลอปป์ เหมือนเป็นความหวังใหม่ของ ลิเวอร์พูล “เดอะ นอมอล วัน” ใช้เวลาสร้างทีม กระทั่งได้เห็นความสำเร็จเป็นรูปธรรมคือการได้รองแชมป์ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2017-18 ต่อด้วยการเข้าป้ายรองแชมป์พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2018-19 แพ้ทีมแชมป์ แมนฯซิตี้ แค่คะแนนเดียว แต่ก็มีรางวัลปลอบใจเป็นโทรฟี แชมเปียนส์ลีก สมัยที่ 6 สวนทางกับ พลพรรคเรด เดวิลส์ ที่ได้แค่อันดับ 6 และดูเหมือนจะเร่ิมห่างชั้นจาก ลิเวอร์พูล ออกไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะฤดูกาลนี้ เยอร์เกน คลอปป์ ก็นำทีมยุติ 30 ปีที่รอคอยลงได้สำเร็จชนิดที่ผู้จัดการทีมคนก่อนทั้ง รอนนี โมแรน, แกรม ซูเนสส์, รอย อีแวนส์, เชราร์ อุลลิเยร์, ราฟาเอล เบนิเตซ, รอย ฮอดจ์สัน, เบรนแดน ร็อดเจอร์ส ไม่เคยมีใครทำได้ และนั่นทำให้แฟนบอลปิศาจแดง ได้แต่มองตาปริบๆ ว่าทีมจะจบอันดับใด ในระหว่างที่ สาวกหงส์แดงทั่วโลก กำลังจะฉลองแชมป์พรีเมียร์ลีก และแชมป์ลีกสูงสุดอังกฤษสมัยแรกในรอบ 30 ปี.

การบริหารทีม

ตลอดช่วงระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ลิเวอร์พูล มีการบริหารทีมที่เป็นธุรกิจครอบครัวแบบอนุรักษ์นิยม ไม่มีแบบแผนหรือแนวทางของทีมที่ชัดเจนและแปรเปลี่ยนไปตามผู้จัดการทีมคนนั้นๆ นั่นส่งผลทำให้โดยรวมแล้วสโมสรไม่สามารถเดินหน้าไปได้อย่างที่ควรจะเป็นและสถานการณ์ดังกล่าวมันสะท้อนไปถึงมูลค่าทางการตลาดของสโมสรที่เทียบไม่ติดเลยกับคู่ปรับตลอดกาลอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ตอนนั้นมีแนวทางของทีมที่ชัดเจนคือมีใช้การใช้นักเตะที่เป็นเด็กปั้นของสโมสรจนโด่งดังขึ้นมาหลาย อาทิ “คลาส ออฟ 92” อันเลื่องลือ ตลอดจนพวกเขายังเน้นในเรื่องของการตลาดในเชิงธุรกิจที่ทำให้ทีมมีรายได้เยอะมากกว่าจนก้าวขึ้นไปติด 1 ใน 3 ของโลกในสโมสรฟุตบอลจนถึงทุกวันนี้

ท่านเซอร์เฟอร์กี้

ความยิ่งใหญ่ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในปี 90 จนถึงยุคมิลเลนเนียม คงปฏิเสธไม่ได้ว่า มาจากกึ๋นและมันสมองของชายที่ชื่อ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ที่เข้ามาช่วยพลิกฟื้นให้ทีม “ปิศาจแดง” กลายสภาพจากลูกไล่ ให้ขึ้นมาเป็นลูกพี่ใหญ่บนสังเวียนลูกหนังอังกฤษ หลักฐานที่ชัดเจนคือแชมป์พรีเมียร์ลีก 13 สมัย

ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ ในประเด็นแรกคือ “ความเด็ดขาด” ถ้ายังจำกันได้ นักเตะระดับซุปเปอร์สตาร์ ต้องเก็บกระเป๋าออกจากโอลด์ แทรฟเฟิร์ด ก่อนเวลาอันควร เมื่อป๋ารู้สึกว่าลูกทีมคนนั้น เริ่มตัวใหญ่คับสโมสรและไม่อยู่ในการควบคุมแล้ว ไม่ว่าจะเป็น พอล อินซ์, เดวิด เบคแคม, รุด ฟาน นิสเตลรอย หรือแม้แต่กัปตันคู่บุญอย่าง รอย คีน ก็ไม่รอด

ส่วนอีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาดาวรุ่ง ซึ่งนักเตะชุด Class of 92 คือบทพิสูจน์นั้นดี ซึ่งถึงแม้จะหมดจากยุคนั้นไป ก็ยังมีดาวรุ่งถูกดันขั้นมาสู่ชุดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ดาร์เรน เฟล็ทเชอร์, เจสซี ลินการ์ด, จอนนี อีแวนส์, แดนนี เวลเบค, ทอม เคลเวอร์ลีย์, ไมเคิล คีน, อัดนาน ยานาไซ

ถึงแม้ว่าบางรายจะไปรอด บางรายถูกปล่อยไปสู่เส้นทางใหม่ เนื่องจากไม่ดีพอสำหรับทีมในอนาคต แต่อย่างน้อยนักเตะทั้งหมดก็ได้รับความไว้วางใจจากพ่อใหญ่ประจำทีม เพื่อพิสูจน์ตัวเองในสนามแล้ว

ทำเนียมแชมป์ทุกรายการ : ลิเวอร์พูล (48 ถ้วย)

– แชมป์ลีกสูงสุด 19 สมัย (ดิวิชั่น 1 เดิม 18 สมัย, พรีเมียร์ลีก 1 สมัย)

– เอฟเอ คัพ 7 สมัย

– ลีก คัพ 8 สมัย

-ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก (ยูโรเปี้ยน คัพ) 6 สมัย

-ยูฟ่า คัพ (ยูโรปาลีก) 3 สมัย

– ยูฟ่า ซูเปอร์ คัพ 4 สมัย

-แชมป์สโมสรโลก 1 สมัย

ทำเนียบแชมป์ทุกรายการ : แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (45 ถ้วย)

– แชมป์ลีกสูงสุด 20 สมัย (ดิวิชั่น 1 เดิม 7 สมัย, พรีเมียร์ลีก 13 สมัย)

– เอฟเอ คัพ 12 สมัย

– ลีก คัพ 5 สมัย

– ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก (ยูโรเปี้ยน คัพ) 3 สมัย

– ยูโรปาลีก 1 สมัย

– ยูฟ่า ซุปเปอร์ คัพ 1 สมัย

– คัพ วินเนอร์ส คัพ 1 สมัย

– อินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ 1 สมัย

– แชมป์สโมสรโลก 1 สมัย

Last Updated on