“จากสิ่งที่ เครซี่ แก๊ง ทำ ถ้ามันเกิดขึ้นในวันนี้ พวกเราทุกคนน่าจะติดคุกไปแล้ว” นีล อาร์ดลีย์ อดีตผู้เล่นของวิมเบิลดันกล่าวกับ The Guardian
หากเอ่ยถึง “เครซี่ แก๊ง” หรือ วิมเบิลดัน เอฟซี เชื่อว่าแฟนฟุตบอลอังกฤษในยุค 80’s-90’s น่าจะจดจำพวกเขาได้เป็นอย่างดี เมื่อพวกเขาคือทีมรองบ่อน ที่ครั้งหนึ่งเคยผงาดคว้าแชมป์ เอฟเอคัพ ด้วยการล้มยักษ์อย่าง ลิเวอร์พูล
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขากลายเป็นที่รู้จัก แต่มันคือสไตล์การเล่นที่ ดุดัน ดิบ และเถื่อน จนได้รับการขนานว่าเป็นทีมสุดโหดที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลแดนผู้ดี
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand
เจ้าแห่งบอลอังกฤษโบราณ
อันที่จริง วิมเบิลดัน เอฟซี ถือเป็นหนึ่งในทีมเก่าแก่ของอังกฤษ เมื่อสโมสรจากลอนดอนใต้ทีมนี้ถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี 1889 หรือเมื่อราว 100 กว่าปีก่อน ทว่าในช่วงแรก พวกเขากลับใช้เวลาส่วนใหญ่เล่นอยู่ในลีกสมัครเล่นของอังกฤษ จึงทำให้แทบไม่มีเกียรติประวัติอะไร
จนกระทั่งในปี 1977 วิมเบิลดัน ได้มีโอกาสลงบู๊ในลีกอาชีพเป็นครั้งแรก หลังทำผลงานได้อย่างโดดเด่นใน เซาเธิร์น ลีก ลีกสมัครเล่นของอังกฤษ ด้วยการคว้าแชมป์ 3 สมัยติดตั้งแต่ฤดูกาล 1974-75 จนทำให้ฟุตบอลลีก เลือกพวกเขามาเล่นในดิวิชั่น 4 แทนที่สโมสร เวิร์คคิงตัน
วิมเบิลดันทำผลงานได้ไม่เลวในลีกอาชีพ ด้วยอันดับ 13 จากทั้งหมด 24 ทีมในฤดูกาล 1977-78 ก่อนที่ฤดูกาลต่อมา พวกเขาจะคว้าสิทธิ์เลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในดิวิชั่น 3 ได้สำเร็จ หลังจบในอันดับ 3 ของตาราง
อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นพวกเขาก็ขึ้นๆ ลงๆ วนเวียนอยู่ในดิวิชั่น 3 และ 4 ไปมาแทบทุกปี คือเลื่อนชั้นขึ้นไป ก็ตกชั้นลงมาภายในฤดูกาลเดียว และจากนั้นก็เลื่อนชั้นกลับไปใหม่ สลับแบบนี้อยู่ทุกปี ทว่าจุดเปลี่ยนก็มาถึงในปี 1982
มันเป็นการคุมทีมอย่างเต็มตัวเป็นฤดูกาลที่ 2 ของ เดฟ บาสเซ็ตต์ อดีตนักเตะของทีม ในตอนแรกเขาพยายามให้ลูกทีม เล่นบอลสวยงาม แต่มันกลับไม่ได้ผล อันเนื่องมาจากคุณภาพนักเตะในทีม แถมยังทำให้พวกเขาตกชั้น ลงไปเล่นในดิวิชั่น 4
บาสเซ็ตต์ ยังคงดันทุรังเล่นแบบเดิมในฤดูกาลต่อมา แต่มันก็ยังเหมือนเดิมและทำให้ทีมเริ่มต้นซีซั่นได้อย่างย่ำแย่ จนในที่สุดเขาก็ยอมทิ้ง สไตล์การเล่นที่สวยงามไว้ข้างหลัง และกลับมาใช้วิธีสามัญ คือบอลไดเร็ค สาดยาวไปข้างหน้า
“เราเริ่มต้นฤดูกาลด้วยการใช้สวีปเปอร์มายืนเป็นแบ็ค ซึ่งมันก็ใช้ได้ แต่หลังจากนั้นเราเปลี่ยนมาใช้วิธีสาดบอลไปข้างหน้าให้เร็วที่สุด และมันก็เข้ากับทีม” บาสเซ็ตต์อธิบาย
และมันก็ไปได้สวย เมื่อสไตล์การเล่นดังกล่าว ทำให้วิมเบิลดัน มีฟอร์มการเล่นที่ดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา และสามารถเก็บได้ถึง 98 คะแนนในฤดูกาลนั้น ผงาดคว้าแชมป์ดิวิชั่น 4 พร้อมได้สิทธิ์เลื่อนชั้นกลับไปเล่นดิวิชั่น 3 ได้สำเร็จ
ก่อนที่มันจะกลายเป็นปรัชญาการเล่นใหม่ของพวกเขา ที่ทำให้วิมเบิลดัน ทำผลงานได้อย่างโดดเด่น จนสามารถเลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในดิวิชั่น 1 หรือลีกสูงสุดในระยะเวลาเพียง 5 ปี ในฤดูกาล 1986-87 และใช้เวลาเพียง 9 ปี นับตั้งแต่เข้าร่วมลีกอาชีพเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1977
นอกจากนี้ หลังจากนั้นมันยังทำให้วิมเบิลดัน สามารถคงสถานะเป็นทีมในลีกสูงสุดได้ยาวนานถึง 14 ฤดูกาล รวมไปถึง 6 ฤดูกาลในพรีเมียร์ลีก แถมยังไปไปไกลถึงตำแหน่งแชมป์ เอฟเอคัพ ด้วยการล้มยักษ์อย่างลิเวอร์พูลในฤดูกาล 1987-88
อย่างไรก็ดี ความสำเร็จเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้พวกเขาเป็นที่รู้จัก
ดุเดือดเลือดพล่าน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสไตล์การเล่นแบบไดเร็คโบราณ ซึ่งไม่สลับซับซ้อน มีส่วนที่ทำให้ วิมเบิลดัน ยกระดับและพัฒนาทีมขึ้นมาเป็นสโมสรในลีกสูงสุด แต่ความน่าเกรงขามก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จ
เพราะในตอนนั้น วิมเบิลดันถือเป็นทีมที่ขึ้นชื่อในสไตล์การเล่นที่ ดุดัน และรุนแรง ในระดับที่เรียกว่าดิบและเถื่อน ที่เอาไว้ข่มขู่คู่แข่ง ซึ่งนำโดย วินนี โจนส์ เจ้าของฉายา “ไอ้โรคจิต”, เดนนิส ไวส์ กองกลางร่างเล็กอารมณ์ร้อน และ จอห์น ฟาชานู กองหน้านักฆ่าคู่แข่ง
มันทำให้แต่ละเกมที่มีพวกเขาอยู่ในสนาม นักเตะคู่แข่งต้องมีอันเจ็บตัวทุกครั้ง ซึ่งมีตั้งแต่ระดับฟกช้ำดำเขียว ไปจนถึงกระดูกเกือบหัก ยกตัวอย่างเช่น แกรี แมบบัตต์ กองหลังของ ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ที่เบ้าตาและโหนกแก้มร้าว หลังโดนศอกบินของ ฟาชานู หรือ แกรี สตีเวน ที่ถูกโจนส์ อัดจนเจ็บหนักที่หัวเข่าและต้องเลิกเล่น เช่นเดียวกับ วิฟ แอนเดอร์สัน อดีตผู้เล่นแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ถูกอัดในอุโมงค์ทางเดินหลังจบเกม จนต้องเย็บใต้ตาถึง 3 เข็ม
แน่นอน รวมถึงเหตุการณ์ที่โด่งดังที่สุด คือการ “จับไข่” ในตำนาน ของ โจนส์ ที่คว้าหมับไปที่กล่องดวงใจของ พอล แกสคอยน์ สมัยเล่นให้ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ที่กลายเป็นภาพจำในความโหดของวิมเบิลดัน ในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี
“วิธีที่ดีที่สุดที่จะดูวิมเบิลดัน คือดูบน Ceefax (หนังสือพิมพ์ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์)” แกรี ลินีเกอร์ อดีตกองหน้าทีมชาติอังกฤษเคยกล่าวเอาไว้ ถือเป็นการเปรียบเปรยกลายๆ ว่า สไตล์การเล่นของพวกเขานั้น โหดเกินกว่าจะออกทีวีได้
ความโหดและดิบเถื่อนไม่ใช่แค่เฉพาะนักเตะของคู่แข่งเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสมาชิกในทีมวิมเบิลดัน ที่มีตั้งแต่ระดับรังแก ข่มเหง ไปจนถึงระดับทารุณ และทำร้ายร่างกาย ซึ่งแน่นอน ส่วนใหญ่ก็มาจากเหล่าหัวโจกชุดเดิม
“เราปกครองด้วยความกลัว มันมหัศจรรย์มาก” ฟาชานูกล่าวกับ CNN
ฟาชานู เล่าว่า เคยเห็นเพื่อนร่วมทีมแกล้งกัน ด้วยการเอาเพื่อนไปขังไว้ที่โรงรถโดยไม่ให้กินอะไรเลย 2 วัน ในขณะที่โจนส์ ก็บอกว่า ดาวยิงของทีมผู้นี้ แม้ปัจจุบันจะมีภาพลักษณ์ที่เป็นมิตร แต่เมื่อก่อนก็แสบไม่แพ้กัน
“วันหนึ่ง ฟาชานู แค่พูดว่า ‘ปิดประตู’ หลังจากนั้นก็เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน เขาทุ่มนักเตะคนอื่นในทีมไปมาเหมือนกับตุ๊กตา” โจนส์กล่าวกับ Telegraph
ในขณะที่ เทอร์รี ฟีแลน อดีตกองหลังของทีม บอกว่ามันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติของที่นี่ แม้ตัวเขาเองก็ต้องใช้เวลาถึง 6 เดือนกว่าจะปรับตัวเข้ากับเพื่อนร่วมทีมได้ หลังย้ายจาก สวอนซี ซิตี มาอยู่กับทีมในปี 1987
“ที่วิมเบิลดัน คุณจะถูกแก้ผ้า และถูกลากลงแอ่งน้ำ หรือบางคนอาจจะงัดรถคุณแล้วขับออกไป (ซ่อน) หรือรองเท้าของคุณอาจจะถูกตอกตะปูแขวนไว้บนสุดของที่นั่ง” ฟีแลน บอกกับ CNN
“หรือคุณอาจจะโดนเผาเสื้อ ถูกตัดเสื้อ หรือถูกผูกเป็นปม หรือถ้าคุณทิ้งกุญแจโรงแรมเอาไว้แล้วออกไปข้างนอก คุณจะกลับมาพร้อมกับห้องที่เต็มไปด้วยขยะ”
ทำให้ วิมเบิลดัน กลายเป็นสโมสรที่เป็นศูนย์รวมของคนโหด จนบางครั้งอาจดูเพี้ยน ไว้ด้วยกัน จนได้รับการขนานนามว่า “เครซี่ แก๊ง”
โดยที่มาของชื่อนี้มาจาก กลุ่มศิลปินตลกของอังกฤษ ที่มีชื่อเสียงในช่วงทศวรรษที่ 1930 ก่อนที่ จอห์น ม็อตสัน ผู้บรรยายของ BBC จะทำให้ชื่อนี้โด่งดังไปทั่ว หลังพูดว่า “The Crazy Gang have beaten the Culture Club!” หลังวิมเบิลดันเอาชนะลิเวอร์พูลในนัดชิง เอฟเอคัพ 1988
ว่าแต่อะไรที่ทำให้พวกเขาเป็นแบบนี้
ประธานตัวดี
“วัฒนธรรมของสโมสรมันขึ้นอยู่กับผู้จัดการทีม หัวหน้าฝ่ายบริหาร และเจ้าของทีม ที่ต่างมีแนวโน้มในการสร้างวัฒนธรรม” แดน อับบราฮัม นักจิตวิทยากล่าวกับ CNN
ที่ วิมเบิลดัน พวกเขามี แซม ฮัมมัม เป็นเจ้าของทีม นักธุรกิจชาวเลบานอนเข้ามาซื้อหุ้นของทีมตั้งแต่ปี 1977 ก่อนจะขึ้นมาเป็นประธานสโมสรเต็มตัวในเวลาต่อมา และแน่นอนว่า พฤติกรรมที่กู่ไม่กับของผู้เล่นในทีมน่าจะได้รับอิทธิพลจากเขาไม่น้อย
เขาขึ้นชื่อว่าเป็นคนที่มีความคิดที่แปลกประหลาด ในระดับที่เรียกได้ว่าอาจจะเพี้ยน เขาเคยออกกฎว่าหากทีมแพ้เกิน 4 ประตู ผู้เล่นต้องไปดูการแสดงโอเปรา หรือเคยให้ บ็อบบี กูลด์ กุนซือของทีม กินอัณฑะลูกแกะ แลกกับการได้เงินไปซื้อนักเตะคนสำคัญ
“ผมอยากได้กองหน้า ผมมองไปที่ เอียน ไรท์ และคนอื่นๆ มากมาย แต่ผมคิดว่า เทอร์รี กิ๊บสัน คือคำตอบ เขาคือคนที่พอเหมาะที่จะเล่นกับ จอนห์ ฟาชานู ที่ตัวใหญ่” บ็อบบี้ กูลกล่าวกับ Pickle Magazine
“ปัญหาเดียวก็คือ แมนฯ ยูไนเต็ด อยากได้เงิน 250,000 ปอนด์เป็นค่าตัวของเขา และวิมเบิลดัน ก็เคยจ่ายแพงแค่เพียง 5,000 ปอนด์เท่านั้น”
“ดังนั้น แซม ฮัมมัม จึงพาผมไปกินอาหารเที่ยงที่ร้านอาหารน่ารักร้านหนึ่งในลอนดอน เป็นที่ของชาวเลบานอน และเขาก็บอกว่า ‘ถ้านายกินสิ่งที่อยู่ตรงหน้า คุณจะได้นักเตะ’ ในตอนนั้นพนักงานเสิร์ฟเอาอัณฑะแกะ 12 ลูกมาเสิร์ฟ ผมเอามันแช่น้ำส้มสายชูและกินมันเยอะเลย หลังจากนั้นผมก็ได้ เทอร์รี กิ๊บสัน มาด้วยค่าตัว 250,000 ปอนด์”
ในขณะที่ โจนส์ ที่เป็นสัญลักษณ์ของความโหดของวิมเบิลดัน ก็เห็นด้วยในเรื่องนี้ แม้ว่าภาพลักษณ์ของทีมในตอนนั้นจะมาจากเขาเป็นส่วนใหญ่ แต่เขาก็ยืนยันว่าเรื่องราวสุดเพี้ยนที่เกิดขึ้นในสโมสรมีมาตั้งแต่ก่อนเขาย้ายมาร่วมทีมเสียอีก
“มันโครตเพี้ยนตั้งแต่วันแรกที่ผมอยู่ที่นั่น” โจนส์ ที่ย้ายมาร่วมทีมในปี 1984 กล่าวกับ BT Sport
“ทุกคนเปิดเผย ตรงไปตรงมา วอลลี (ดาวส์ กองกลาง) เป็นผู้นำ และ (ผู้จัดการ เดฟ) บาสเซ็ตต์ ก็เป็นคนกระตุ้น เรื่องตลกที่เราเคยทำคือตอนที่เราต่อยกันที่เชลซี มีผู้เล่น 21 คนอยู่ในวงกลมกลางสนามและเราก็ต่อยกันไปมา”
ในขณะที่ ฮัมมัม ก็ไม่ได้ปฏิเสธในเรื่องนี้ พร้อมทั้งยืดอกรับว่าเขาเองอาจจะเป็นต้นเหตุที่ทำให้สโมสรเป็นแบบนี้ อันเนื่องมาจากความไม่ประสีประสาในเรื่องฟุตบอล ที่ทำให้ไม่รู้ว่าขีดจำกัดมันอยู่ตรงไหน
“ผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับฟุตบอล ผมไม่รู้วิธีวางตัว ไม่มีใครในสโมสรรู้วิธีวางตัวเลย” เขากล่าวกับ BT Sport
“ผมน่าจะเป็นคนกระตุ้นเรื่องนี้ ผมน่าจะมีส่วนร่วมกับสิ่งนี้ และหลังจากนั้นที่เราประสบความสำเร็จอย่างมากในพรีเมียร์ลีก และมันยังคงมีเรื่องราวเป็นล้านๆ ที่เกิดขึ้นที่นั่น”
มันจึงเป็นเหมือนวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึกมาอย่างยาวนาน ทั้งจากความไม่รู้ของประธานสโมสร การไม่ห้ามปรามของผู้จัดการทีม สต้าฟโค้ช รวมไปถึงนักเตะด้วยกันเอง จนทำให้บางครั้งเกิดเรื่องราวบานปลาย ส่งผลกระทบต่อคู่แข่งและคนในทีม
อย่างไรก็ดี พวกเขาก็ไม่ได้ยี่หระกับสิ่งนี้
จิตวิญญาณที่ยึดถือ
“เราชอบที่ทุกคนเรียกเราว่า เครซี่ แก๊ง” โจนส์กล่าวกับ BT Sport
แม้ว่าพฤติกรรมสุดโหดของพวกเขา จะได้รับเสียงก่นด่าจากคนภายนอกไม่น้อย โดยบางส่วนมองว่ามันเป็นการรังแก ที่รับไม่ได้ แต่พวกเขากลับมองว่ามันคือวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง ที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ
“ผมคิดว่ามัน (วัฒนธรรมของสโมสร) คือมิตรภาพที่อบอุ่น คือสิ่งที่ผู้เล่นเป็น และสิ่งที่ทำให้พวกเขาเป็นพวกเขา” ฟีแลนกล่าวกับ Decan Herald
“เราได้โอกาสทองที่จะเล่นในลีกสูงสุด และไม่ต้องการให้มันหลุดลอยไป ความคิดของเราคือทุกเกมคือเกมสุดท้าย ดังนั้นเราจึงใส่กันอย่างเต็มที่ ถ้าคุณสร้างปีศาจเหล่านั้นจากห้องแต่งตัว หลังจากนั้นมันจะอยู่ในสนามเช่นกัน”
“มันพูดไม่ได้ว่าเราออกไปทำให้คนเจ็บ ผมคิดว่ามันคือจิตวิญญาณของทีม ความเชื่อนั้นไม่เคยทำลายลงได้ ใช่เราแพ้ในบางครั้ง แต่เราก็เดินหน้าและกลับมาได้เสมอ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราชนะในเกมของเราเป็นส่วนใหญ่”
พวกเขามองว่ามันคือปรัชญาสโมสรที่ทุกคนต่างยึดถือ ที่มีส่วนสำคัญทำให้สโมสรซึ่งไม่ได้มีเงินถุงเงินถังสามารถต่อกรกับเหล่าทีมยักษ์ใหญ่ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ และยืนหยัดอยู่ในลีกสูงสุดได้ถึง 14 ฤดูกาล
“มันคือความฉลาดที่จะทำให้เพื่อนร่วมทีมทำผลงานได้อย่างเต็มที่ เมื่อทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผน จะให้กำลังใจและกระตุ้นพวกเขาอย่างไร หรือใครจะเป็นคนกระตุ้นใคร” ฟีแลนกล่าวต่อ
“คนอย่าง วินนี โจนส์ มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง เขามีสไตล์การเล่นแบบนั้นซึ่งทำให้เขาประสบความสำเร็จ ดูเขาในตอนนี้ เขาเป็นดาราฮอลลีวูด เขาทำสิ่งดีๆ มากมาย รวมถึงสิ่งที่เราไม่ได้แนะนำ เขาเป็นคนมีคาแร็คเตอร์ที่แท้จริง และเขาก็ทิ้งทุกอย่างไว้ในสนาม ในสนามมันแค่เป็นวิธีหาเลี้ยงชีพ”
นอกจากนี้ แม้สายตาคนภายนอกจะมองว่า พฤติกรรมของเหล่านักเตะวิมเบิลดัน เป็นสิ่งที่เลวร้าย แต่พวกเขาไม่ได้คิดแบบนั้น โดยเฉพาะสิ่งที่ทำกับนักเตะในทีม ที่ทำให้พวกเขาสนิทกันมากขึ้น และมีความสามัคคี
“ผมไม่เคยคิดว่ามันคือการรังแก มันคือการแกล้งกันเล่น” ลุตซ์ ฟาเนนสตีล นักฟุตบอลคนแรกของโลกที่เล่นใน 6 ทวีป ซึ่งเคยอยู่กับ วิมเบิลดัน ในฤดูกาล 1994-95 อธิบายกับ CNN
“ตอนนั้นเรากำลังวิ่งไปที่สวนสาธารณะ และมันก็ค่อนข้างหนาวนิดหน่อย แต่การถูกถอดเสื้อผ้าออกหมดและต้องวิ่งกลับไป มันเป็นอะไรที่สนุกกว่าไหนๆ”
“แต่มันก็มีการแกล้งกันที่ไม่ได้สนุก ส่วนใหญ่ผิดด้วย อย่างการฉี่ใส่ขวดแชมพูบางคน โดยเฉพาะกับผมที่ผมยาว”
“มันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม อย่างฉี่ใส่กัน หรือช่วยกระตุ้นกันในสนาม มันทำให้ผู้เล่นสนิทกันมากขึ้น”
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าปัจจุบันมันจะใช้ไม่ได้อีกแล้ว
เวลาเปลี่ยน โลกเปลี่ยน
แน่นอนว่าด้วยวิวัฒนาการฟุตบอลที่เปลี่ยนไป บวกกับกฎการเล่นสมัยใหม่ที่ปกป้องผู้เล่นมากขึ้น เมื่อการเข้าปะทะแบบไม่ยั้ง หรือการแอบชักศอกใส่คู่ต่อสู้ อาจจะทำให้พวกเขาโดนใบแดง หรืออาจจะถูกส่งเข้าซังเต ทำให้แทบไม่เห็นทีมไหนที่เล่นได้เหมือนกับวิมเบิลดันอีกแล้วในปัจจุบัน
“จากสิ่งที่ เครซี่ แก๊ง ทำ ผมคิดว่าสังคมเปลี่ยนไป ฟุตบอลเปลี่ยนไป ถ้ามันเกิดขึ้นในวันนี้ พวกเราทุกคนน่าจะติดคุกไปแล้ว” นีล อาร์ดลีย์ อดีตผู้เล่นของวิมเบิลดันกล่าวกับ The Guardian
“วิธีทำงานของทีมงาน วิธีการของผู้เล่น คงไม่มีใครที่จะยอมรับ ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องยากที่จะเปรียบเทียบยุคสมัยเมื่อ 25-30 ปีก่อนกับปัจจุบัน”
อย่างไรก็ดี ก็ยังเป็นเรื่องน่าเสียดายที่การไม่สามารถเล่นโหดได้อย่างวิมเบิลดันเหมือนเมื่อก่อน ได้พราก “ความกระหาย” ของนักเตะไปด้วย ซึ่งอาจจะไม่ได้มีปัจจัยมาจากกฎการแข่งขันที่เปลี่ยนไปเพียงอย่างเดียว
“ในอดีต ผู้เล่นดาวรุ่งต่างมีความกระหาย พวกเขาต้องทำงาน ยืนหยัด รับมือ และจัดการกับทุกอย่างที่พุ่งเข้ามาหา แต่ตอนนี้ผู้เล่นอายุน้อยล้วนต้องการให้คนรอบข้างทำทุกอย่างจนเสร็จให้แก่พวกเขา” อาร์ดลีย์ ที่เคยเป็นผู้จัดการทีมวิมเบิลดันในช่วงปี 2012-2018 กล่าวกับ CNN
“ศูนย์ฝึกฟุตบอลถูกสร้างในสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น เครื่องไม้เครื่องมือในการฝึกซ้อม คุณภาพของโค้ชดีขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้โอ๋พวกเขามากเกินไป”
“และผู้เล่นอายุ 14 ก็ถูกปฏิบัติเหมือนผู้เล่นชุดใหญ่ เรากำลังพยายามที่จะทำให้มันเข้ากันได้ เราอยากให้ผู้เล่นของเรามีโค้ชและเครื่องไม้เครื่องมือที่ดีที่สุด แต่เราอยากให้พวกเขากระหายมากกว่านี้”
ปัจจุบัน วิมเบิลดัน เอฟซี ได้ถูกแปรสภาพเป็น มิลตัน คีนส์ ดอนส์ หลังเจ้าของทีมย้ายฐานไปที่เมือง มิลตัน คีนส์ ที่ทำให้พวกเขาเหลือแค่ชื่อ และถึงแม้ว่าแฟนบอลดั้งเดิมจะพยายามก่อตั้งทีมขึ้นมาใหม่ในชื่อ เอเอฟซี วิมเบิลดัน แต่พวกเขาก็ไม่ใช่ทีมเดียวกัน ทั้งในแง่สโมสรและจิตวิญญาณ
มันยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า แม้สิ่งที่วิมเบิลดันทำในอดีตจะดูรุนแรงและโหดร้าย แต่มันก็แสดงให้เห็นถึงคุณค่าและตัวตนของพวกเขา ที่ครั้งหนึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของฟุตบอลอังกฤษ
และทำให้ชื่อของ “เครซี่ แก๊ง” ไม่เคยเลือนหายไปจากความทรงจำ
Last Updated on